ผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพ

โครงการแรกในปี 2560 ได้จัดตั้งศูนย์ ฯ ดำเนินกิจกรรมโครงการ 9101 สิ่งแรกที่ได้เริ่มทำคือ การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ซึ่งเป็นปุ๋ยอินทรีย์ หรือปุ๋ยธรรมชาติ ชนิดหนึ่งที่ได้มาจากการนำเอา เศษซากพืช เช่น ฟาง ข้าว แกลบ ซังข้าวโพด ต้นถั่วต่าง ๆ หญ้าแห้ง ผักต่าง ๆ ของเหลือทิ้งจากขยะมูลฝอยตามบ้านเรือนมาหมักร่วมกับมูลสัตว์ และสารเร่งจุลินทรีย์ โดยใช้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว เศษพืชจะเปลี่ยนสภาพจากของเดิมเปื่อยยุ่ยเป็นปุ๋ยนำไปใส่ในไร่นา หรือพืชสวน เช่น ไม้ผล พืชผัก หรือไม้ดอกไม้ประดับได้ โดยมีวิธีการทำดังนี้

เตรียม ส่วนผสม

  • มูลสัตว์แห่งละเอียด 3 ส่วน
  • แกลบดำ 1 ส่วน
  • อินทรีย์วัตถุอื่น ๆ ที่หาได้ง่าย เช่น แกลบ ชานอ้อย ขี้เลื่อย เปลือกถั่วลิสง เปลือกถั่วเขียว ขุยมะพร้าว กากปาล์ม เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน 3 ส่วน
  • รำละเอียด 1 ส่วน
  • น้ำสกัดชีวภาพ หรือใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ (หัวเชื้อจุลินทรีย์ทำเอง หรือ สารเร่ง พด. หรือ EM) 1 ส่วนกากน้ำตาล 1 ส่วน
  • น้ำ 100 ส่วน

** หมายเหตุ : อัตราส่วนของวัสดุที่ใช้ปรับตามความเหมาะสม นอกจากรำละเอียด จะต้องให้มีไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 หรือ 10% เพราะรำละเอียดเป็นอาหารที่จำเป็นของจุลินทรีย์ **

ขั้นตอนวิธีทำ

  1. นำวัสดุต่าง ๆ มากองซ้อนกันเป็นชั้น ๆ แล้วคลุกเคล้าจนเข้ากันดี
  2. เอาส่วนผสมของน้ำสกัดชีวภาพกับน้ำตาลและน้ำคนจนละลายเข้ากันดี ใส่บัวรดน้ำราดบนกองวัสดุปุ๋ยหมัก คลุกให้เข้ากันจนทั่วให้ได้ความชื้นพอหมาดๆ อย่าให้แห้งหรือชื้นเกินไป (ประมาณ 30-40 %) หรือลองเอามือขยำบีบดู ถ้าส่วนผสมเป็นก้อนไม่แตก ออกจากกันและมือรู้สึกชื้นๆ ไม่แฉะแสดงว่าใช้ได้ ถ้าแตกออกจากันยังใช้ไม่ได้ต้องรดน้ำเพิ่ม
  3. หมักกองปุ๋ยหมักไว้ 7 วัน จากนั้นก็สามารถนำไปใช้ได้
  4. วิธีหมัก ทำได้ 2 วิธี คือ
    • เกลี่ยกองปุ๋ยหมักบนพื้นซีเมนต์หนาประมาณ 1-2 คืบ คลุมด้วยกระสอบ ทิ้งไว้ 4-5 วันตรวจดูความร้อนในวันที่ 2-3 ถ้าร้อนมากอาจจะต้องเอากระสอบที่คลุมออก แล้วกลับกองปุ๋ยเพื่อระบายความร้อน หลังจากนั้นกองปุ๋ยจะค่อย ๆ เย็นลงนำลงบรรจุกระสอบเก็บไว้ใช้ต่อไป
    • บรรจุปุ๋ยหมักที่เข้ากันดีแล้วลงในกระสอบปุ๋ย ไม่ต้องมัดปากถุง ตั้งทิ้งไว้ บนท่อนไม้ หรือไม้กระดานที่สามารถถ่ายเทอากาศใต้พื้นถุงได้ ทิ้งไว้ 5-7 วัน จะได้ปุ๋ยหมักชีวภาพที่ ประกอบด้วย จุลินทรีย์และสารอินทรีย์ต่าง ๆ เช่นเดียวกับน้ำสกัดชีวภาพในรูปแห้ง ปุ๋ยหมักชีวภาพ ที่ดี จะมีกลิ่นหอม มีใยสีขาวของเชื้อราเกาะกันเป็นก้อนในระหว่างการหมัก ถ้าไม่เกิดความร้อนเลย แสดงว่า การหมักไม่ได้ผล อุณหภูมิในระหว่างการหมักที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 40 – 50 องศาเซลเซียส ถ้าให้ ความชื้นสูงเกินไป จะเกิดความร้อนสูงเกินไป ฉะนั้นความชื้นที่ให้ต้องพอดี ประมาณ 30% ปุ๋ยหมัก ชีวภาพเมื่อแห้งดีแล้ว สามารถเก็บไว้ได้นานหลายเดือน เก็บไว้ในที่แห้งในร่ม

 

ประโยชน์ ของการใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ

  • ทำให้โครงสร้างของดินและการซึมผ่านของน้ำดีขึ้น
  • เพิ่มการดูดซับธาตุอาหารหลักและลดความเป็นพิษของธาตุบางชนิด
  • เพิ่มกิจกรรมของจุลินทรีย์ในดินและลดปริมาณเชื้อโรคพืชบางชนิด
  • การระบายอากาศของดินและรากพืชแผ่กระจายได้ดีขึ้น
  • ดินค่อยๆ ปล่อยธาตุอาหารพืชและลดการสูญเสียธาตุอาหารของพืช

ที่มา : เว็บไซต์วีโกเทค

อยากแชร์มั้ย กดแชร์ตรงนี้ได้เลย ;)

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top