น้ำหมักจากผลไม้รสเปรี้ยว

น้ำหมักจากผลไม้รสเปรี้ยว มีคุณสมบัติเด่นคือมีความเป็นกรดสูงใช้สำหรับการทำความสะอาดในรูปแบบต่าง ๆ ได้ดี ผลไม้รสเปรี้ยวที่นิยมนำมาหมัก เช่น มะกรูด มะนาว มะเฟือง สับปะรด ส้มป่อย นำผลไม้ใดมาหมักก็จะเรียกชื่อน้ำหมักตามผลไม้นั้น ๆ ถ้าจะนำมาใช้กับการทำความสะอาดร่างกาย ทำสบู่ ยาสระผม ผสมน้ำอาบ ก็เลือกใช้วัตถุดิบที่คุณภาพดี แต่ถ้าจะใช้เพื่อการซักล้างแบบช่วยลดโลกร้อนก็ควรเลือกวัตถุดิบที่คนส่วนใหญ่ทิ้งแล้ว (แต่ไม่เน่าเสีย ไม่สกปรก) เช่น เนื้อมะกรูดที่นำผิวไปทำพริกแกงแล้ว ผลมะเฟืองที่สุกงอมหรือถูกแมลงเจาะทำลายแล้วร่วงเกลื่อนอยู่ใต้ต้น เปลือกส้มหรือเปลือกมะนาวที่คั้นน้ำไปใช้แล้ว เปลือกสับปะรด เปลือกส้มโอ

ซึ่งน้ำที่ได้จากหมักผลไม้รสเปรี้ยวนี้จะมีฤทธิ์เป็นกรดจัด มีค่า pH ประมาณ 3 -3.5 กรดที่ได้นี้มีคุณสมบัติช่วยสลายไขมันหรือขจัดคราบสกปรกต่าง ๆ ได้ดีและจะมีกลิ่นหอมของผลไม้หรือกลิ่นน้ำมันหอมระเหยที่อยู่ในเปลือกของผลไม้ และยังงมีสรรพคุณอื่น ๆ ตามชนิดของผลไม้ที่นำมาหมักด้วย

นอกจากนี้ จุลินทรีย์กลุ่มสร้างสรรค์ (EM) ที่อยู่ในน้ำหมักชีวภาพ จะไปช่วยยับยั้งการทำงานของจุลินทรีย์กลุ่มทำลาย ทำให้ช่วยลดปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่เกิดจากเชื้อโรคได้ด้วย แถมประหยัดเงินไม่ต้องซื้อของใช้ ไม่ต้องเสียค่ากำจัดขยะ ประหยัดแรงงานและเวลาในการทำความสะอาด และน้ำทิ้งจากการซักล้างต่าง ๆ จะทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าน้ำที่ซักล้างด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ทำจากสารเคมี 

ส่วนผสมวิธีการทำ

  • ผลไม้รสเปรี้ยว (แก่จัดหรือสุก-ใช้ทั้งเปลือก) 3 กก.
  • น้ำตาลทรายธรรมชาติ 1 กก.
  • น้ำสะอาด 10  ลิตร
  • หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ (EM) ชนิดน้ำ ปริมาณเล็กน้อย
  • ผสมน้ำตาลทรายกับน้ำสะอาดในถังพลาสติก คนให้น้ำตาลละลาย จากนั้นหั่นผลไม้ตามขวางให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ลงในถังที่ละลายน้ำตาลไว้ ควรเลือกใช้ถังขนาดที่เมื่อใส่วัตถุดิบทั้งหมดแล้วเหลือที่อากาศเพียงเล็กน้อย (เหลือที่ประมาณ 1 ใน 10 ส่วน) แล้วปิดฝาถังให้สนิท หมักไว้ประมาณ 1-3 เดือน (ขึ้นอยู่กับว่าจะนำน้ำหมักนั้นมาใช้ประโยชน์อะไร)

น้ำหมักชีวภาพจากผลไม้รสเปรี้ยวสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้หลายอย่าง เช่น

  • ใช้ล้างผักผลไม้ นำน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำ (อัตรา1ส่วน ต่อน้ำสะอาด 20 ส่วน) แช่ไว้ประมาณ 15 นาที จะช่วยล้างสารพิษตกค้างในผักผลไม้ ช่วยให้ผักกรอบขึ้น สดขึ้น และยืดอายุการเก็บรักษา (แต่ถ้าแช่นานเกินไป ผักจะเน่าเร็ว)
  • ใช้ถูพื้น นำน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำ (อัตรา ส่วน ต่อน้ำสะอาด 50 ส่วน) ใช้ทำความสะอาดเช็ดถูพื้น จะสลายคราบสกปรกได้ดี พื้นสะอาด คราบสกปรกจะไม่เกาะพื้นง่าย ห้องจะไม่มีกลิ่นเหม็นอับ
  • ใช้ผสมกับน้ำเช็ดกระจก นำน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำ (อัตรา 1ส่วน ต่อน้ำสะอาด 50 ส่วน) จะสลายคราบสกปรกได้ดี กระจกจะใสสะอาดเงางาม ฝุ่นผงไม่เกาะง่าย และการทำความสะอาดกระจกครั้งต่อๆไปจะง่ายขึ้น
  • ใช้ผสมกับน้ำทำความสะอาดห้องน้ำและเครื่องสุขภัณฑ์ นำน้ำหมักชีวภาพผสมน้ำ (อัตรา 1ส่วน ต่อน้ำสะอาด 20 ส่วน) จะสลายคราบสกปรกได้ดี เครื่องสุขภัณฑ์จะสะอาด เงางาม คราบสกปรกไม่เกาะง่าย และการทำความสะอาดครั้งต่อๆไปจะง่ายขึ้น
  • ใช้เป็นส่วนผสมในน้ำยาซักผ้า (10 %) หรือผสมกับน้ำซักผ้าโดยตรง (อัตรา 1ส่วน ต่อน้ำสะอาด 5 ส่วน) แช่ผ้าไว้อย่างน้อย 30 นาที ผ้าจะสะอาดขึ้น ถึงแม้ว่าจะแช่ผ้าทิ้งไว้นานข้ามคืน น้ำที่แช่ผ้าจะไม่มีกลิ่นเหม็นเน่าเหมือนกับการใช้ผงซักฟอกทั่วๆไป ผ้าที่แห้งแล้วจะไม่มีกลิ่นอับ เสื้อผ้าที่ใส่แล้วจะมีกลิ่นเหม็นน้อย
  • ใช้ผสมกับน้ำสำหรับล้างจานชามที่ไม่มีคราบไขมัน (อัตรา 1ส่วน ต่อน้ำสะอาด 20 ส่วน) ล้างภาชนะให้สะอาดได้ง่ายขึ้น กำจัดเชื้อโรคและเชื้อรา
  • ใช้เป็นส่วนผสมในน้ำยาล้างจาน (10 %) จะช่วยสลายคราบสกปรกและไขมันได้ดีขึ้น ล้างภาชนะให้สะอาดได้ง่ายขึ้น ช่วยดับกลิ่นคาว กำจัดเชื้อโรคและเชื้อรา
  • ใช้เป็นส่วนผสมในสบู่เหลวอาบน้ำ ใช้น้ำหมักชีวภาพผสมในสบู่อาบน้ำ(3-5 %) จะทำให้ผิวสะอาดชุ่มชื้น ไม่แห้งกราน ช่วยลดสิว ลดฝ้า ลดกลิ่นตัว ช่วยบำบัดรักษาโรคผิวหนังบางชนิด

ตัวอย่างที่เรานำน้ำหมักมาทำเป็นน้ำยาเอนกประสงค์ น้ำยาล้างจาน สบู่ เป็นต้น

ที่มา : เว็บไซต์ krupawana

อยากแชร์มั้ย กดแชร์ตรงนี้ได้เลย ;)

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Scroll to Top